สาธารณรัฐที่ 2 (ค.ศ. 1848 – 1852) ของ ประวัติศาสตร์ฝรั่งเศส

ดูบทความหลักที่: สาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ 2

หลังจากการปฏิวัติได้มีการจัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกาล (Provisional government) ขึ้น เพื่อปกครองฝรั่งเศสจนกว่าจะได้รัฐธรรมนูญใหม่ โดยมีดูปองต์ เดอ เลอร์ (Dupont de l'Eure) เป็นประธานสภา และมีคณะกรรมการบริหาร (Executive Commission) ทำหน้าที่เป็นประมุขแห่งรัฐชั่วคราว แต่เกิดการลุกฮือขึ้นของฝ่ายสังคมนิยมซึ่งใช้ธงแดงเป็นสัญลักษณ์ คัดค้านแนวความคิดเสรีนิยมแบบประชาธิปไตยสาธารณรัฐซึ่งใช้ธงไตรรงค์เป็นสัญลักษณ์ และเห็นว่าตลอดการเปลี่ยนแปลงการปกครองของฝรั่งเศสหลายครั้งที่ผ่านมากรรมกรและชนชั้นล่างขาดบทบาททางการเมือง เกิดจลาจลของชนชั้นผู้ใช้แรงงานขึ้นในปารีส เรียกว่า การลุกฮือวันเดือนมิถุนายน (June Days Uprisings) ฝ่ายรัฐบาลเฉพาะกาลนำโดยหลุยส์-เออแฌน กาแวนญัค (Louis-Eugène Cavaignac) นำกองกำลังเข้าปราบปรามจลาจลอย่างรุนแรง

การร่างรัฐธรรมนูญฉบับค.ศ. 1848 เสร็จสิ้นในเดือนพฤศจิกายน และกำหนดให้มีการเลือกตั้งในเดือนธันวาคม ซึ่งเจ้าชายหลุยส์-นโปเลียน พระนัดดาของพระจักรพรรดินโปเลียน ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งด้วยนโยบายสังคมนิยมทำให้หลุยส์-นโปเลียนได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายธงแดงและฝ่ายนิยมราชาธิปไตย ในขณะที่ฝ่ายสาธารณรัฐนำโดยกาแวนญัคพ่ายแพ้การเลือกตั้งไป หลุยส์-นโปเลียนจึงได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดีของฝรั่งเศสในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1848 เป็นครั้งแรกที่ฝรั่งเศสมีผู้นำของรัฐเป็นประธานาธิบดีตามรัฐธรรมนูญใหม่

ในรัฐสภาสมัยของหลุยส์-นโปเลียนประกอบด้วยกลุ่มเลฌิติมิสต์ฝ่ายขวาอนุรักษ์นิยม และฝ่ายกลาง-ขวาคือกลุ่มออร์เลียงนิสต์ รัฐธรรมนูญฉบับปีค.ศ. 1848 ไม่อนุญาตให้ประธานาธิบดีดำรงตำแหน่งเกินกว่าหนึ่งสมัย ซึ่งหลุยส์-นโปเลียนได้พยายามที่จะแก้ไขกฎหมายนี้แต่ฝ่ายราชาธิปไตยในสภาไม่เห็นชอบด้วย ในเดือนพฤษภาคมค.ศ. 1850 รัฐสภาฝ่ายราชาธิปไตยได้ออกกฎหมายตัดสิทธิ์เลือกตั้งของชนชั้นล่าง หลุยส์-นโปเลียนจึงใช้โอกาสนี้เดินสายปราศรัยโจมตีรัฐบาลฝ่ายขวา และได้รับความนิยมในกลุ่มสังคมนิยม จนกระทั่งในวันที่ 2 ธันวาคม ค.ศ. 1851 หลุยส์-นโปเลียนได้ก่อการรัฐประหาร (Coup of 1851) เพื่อยึดอำนาจจากรัฐบาลฝ่ายขวา อีกหนึ่งปีต่อมาในวันที่ 2 ธันวาคม ค.ศ. 1852 มีการลงประชามติเห็นชอบให้ยุบสาธารณรัฐครั้งที่สองและประกาศให้ประเทศฝรั่งเศสเป็นจักรวรรดิอีกครั้ง เรียกว่า จักรวรรดิที่สอง (Second Empire)

ใกล้เคียง

ประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์ไทย ประวัติศาสนาพุทธ ประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น ประวัติศาสตร์จีน ประวัติศาสตร์โลก ประวัติศาสตร์สหรัฐ ประวัติศาสตร์สเปน ประวัติศาสตร์เยอรมนี ประวัติการบินไทย